ในเดือนกุมภาพันธ์ 2019 เฮย์ลีย์ เบลล์ออกเดินทางตามลำพังด้วยมอเตอร์ไซค์คู่ใจไปยังจอห์นโอโกรตส์ หมู่บ้านในสายหมอกทางตอนเหนือสุดของสกอตแลนด์ แม้การขี่รถเล่นคนเดียวกลางวิวสวยๆ ยามบ่ายอาจดูเหมือนไม่ได้มีอะไร แต่แท้จริงแล้วเฮย์ลีย์กำลังเริ่มต้น Women Riders World Relay (WRWR) อย่างเป็นทางการ เฮย์ลีย์และทีมอาสาสมัครผู้ทุ่มเทช่วยกันวางแผน การขี่รถแบบผลัดครั้งมโหฬารนี้จะเป็นการรวมตัวกันของเหล่านักบิด (หรือผู้พิทักษ์) กว่า 3,000 ชีวิต ไม้คทาในตำนาน 1 อัน การเดินทางข้าม 79 ประเทศ และเส้นทางอันซับซ้อนที่จะลากผ่านระยะทางกว่า 100,000 กิโลเมตรตลอดระยะเวลา 1 ปี
นักขี่มากมายเลือกที่จะร่วมทางเพียงขาเดียวของการเดินทาง เป็นการสำรวจเส้นทางในบ้านเกิดของตัวเอง อีกหลายคนถือโอกาสที่จะได้ไปสำรวจต่างบ้านต่างเมืองหรือวัฒนธรรมที่ไม่คุ้นเคย (และยังมีผู้กล้าอีกหลายคนเลือกจะลุยไปจนจบการเดินทาง) ตลอดเวลาหลายร้อยวันในทุกประเทศและภาษา ผู้จัดการคณะเดินทางจะใช้ Google Maps เพื่อสร้างแผนการเดินทางให้เหล่านักบิดขี่ตามในระหว่างที่ลัดเลาะไปตามทางเล็กๆ ถนนสายรอง และข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ ทันทีที่ล้อหยุดหมุนเป็นครั้งสุดท้าย อดีตคนแปลกหน้ากลุ่มนี้ก็ถักทอเชื่อมสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวจากประสบการณ์ และสิ้นสุดการเดินทางด้วยรถจักรยานยนต์แบบผลัดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ร่วมกัน
ตอนที่โตขึ้นมาในชนบทของอังกฤษ เฮย์ลีย์ไม่เคยได้รับอนุญาตให้ขี่มอเตอร์ไซค์เลย แม้พ่อ พี่ชาย และญาติๆ ของเธอจะเป็นสิงห์นักบิดกันก็ตาม ความอยากขี่ค่อยๆ เลือนหายไปตามกาลเวลา จนเมื่อ 5 ปีก่อน ที่เธอได้ซ้อนท้ายแฟนเก่าไปชมการแข่งรถจักรยานยนต์และรู้สึกสนใจขึ้นมาอีกครั้ง เธอจองการทดสอบการขับขี่ แล้วตั้งแต่นั้นมาก็ไม่มีการหันหลังกลับอีกเลย เฮย์ลีย์เริ่มต้น WRWR จากแค่ความต้องการที่จะหาผู้หญิงคนอื่นมาเป็นเพื่อนร่วมทางเฉยๆ แต่ก็เติบโตขึ้นเป็นชุมชนที่ครอบคลุมทั่วโลก
การประสานงานคณะขับขี่แบบผลัดที่ใหญ่ขนาดนี้เป็นเรื่องที่มากกว่าแค่การย้ายคนจากจุด ก ไปจุด ข เพราะการทำให้ผู้ขี่ปลอดภัย (และอิ่มท้อง) ก็สำคัญอย่างยิ่งไม่แพ้กัน ในขณะที่ทีมวางแผนร่างเส้นทางกว่า 300 วันด้วย Google Maps นั้น พวกเธอยังระบุจุดจอดรถที่น่าเชื่อถือถ้านักขี่อยากพักผ่อนไว้ด้วย เช่น ปั๊มน้ำมันที่เปิด 24 ชั่วโมง หรือร้านค้าสำหรับเติมเสบียง เป็นการเพิ่มความปลอดภัยอีกระดับให้สมาชิกทุกคนระหว่างการเดินทางนั่นเอง
ติดตามผู้หญิง 3 คนในภารกิจครั้งสำคัญของการขี่รถข้ามสหรัฐอเมริกา เม็กซิโก และเวสเทิร์นเคปในแอฟริกาใต้
งานเลี้ยงหลังจบการเดินทางจัดขึ้นกลางเดือนกุมภาพันธ์โดยมีนักขี่หลายร้อยคนจาก 40 ประเทศเข้าร่วม เหล่าสาวๆ ผลัดกันเล่าเรื่องราวและย้อนความหลังถึงการเดินทางของพวกเธอ "ความภูมิใจที่เราได้เห็นมาจากประเทศต่างๆ และความรักความหลงใหลในการสื่อสารและแบ่งปันประสบการณ์กับคนอื่นๆ นั้นเหลือเชื่อมาก" เฮย์ลีย์กล่าว
เมื่อดูประวัติศาสตร์การขี่รถมอเตอร์ไซค์ทั่วโลก ฉันมักจะพบว่ามีผู้หญิงที่กล้าหาญอยู่ในนั้น แต่วงการนี้ก็ยังออกแบบมาเพื่อผู้ชายเสมอ ฉันจึงต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามระดับโลกนี้ในการทำให้อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์เริ่มจริงจังกับพวกเรามากขึ้นเสียที
มิกกี เอ็ม. เอวิส (สหรัฐอเมริกา) 724 กม.
ฉันเริ่มขี่รถเพราะมันให้ความรู้สึกทรงพลัง เป็นอิสระ และมีชีวิต เหมือนได้เป็นผู้ควบคุมชีวิตของตัวเองแทนที่จะเป็นแค่คนดูค่ะ ฉันได้เห็นสถานที่สวยงามมากมายที่ไม่เคยคิดว่าจะได้เห็น ได้เจอผู้คนที่ไม่เคยคิดว่าจะได้เจอ และเติบโตในฐานะคนๆ หนึ่งก็เพราะทั้ง 2 สิ่งนั้น
เลซา จอร์แดน สเปลเลอร์ (แคนาดา) 640 กม.
ฉันพิการและเดินไม่ได้ รถดัดแปลงคันนี้เป็นเหมือนขาที่ฉันไม่เคยมี ทีนี้ฉันก็ไปไหนต่อไหนได้ ฉันอยากพบเจอกับผู้คนเจ๋งๆ ในการเดินทางมาโดยตลอด อิสรภาพนี้เปลี่ยนชีวิตฉันไป
ชินตา อูตามี (อินโดนีเซีย) 13,000 กม.
ลูกชายวัย 24 ปีของฉันเสียชีวิตเพราะลูคีเมีย เขาเป็นนักบิดตัวยง และทิ้งรถของเขาไว้ให้เพราะรู้ว่าฉันอยากขี่มาโดยตลอด พูดอีกนัยหนึ่ง มันทำให้ฉันได้อยู่กับเขา การขี่รถคือโยคะ คือการทำสมาธิ และการดูแลจิตใจสำหรับฉัน และยังช่วยให้ฉันรับมือกับความเศร้าโศกของตัวเองได้ ให้ฉันได้จดจ่อกับอะไรบางอย่าง ฉันจะพาลูกชายไปด้วยในการเดินทางครั้งนี้และปล่อยให้น้ำตาไหลรินตลอดทางกลับบ้านอย่างไม่ต้องสงสัย
เจนนี ฮิบเบิร์ต (นิวซีแลนด์) 498 กม.
เราอยากแสดงให้โลกรู้ว่า นี่ไง ผู้หญิงทั่วโลกพวกนี้มารวมตัวกันด้วยเป้าหมายเดียวกัน ไม่สำคัญเลยว่าใครจะผิวสีอะไร นับถือศาสนาอะไร หรือมีความเชื่อทางการเมืองแบบไหน เรื่องพวกนั้นไม่สำคัญเลย เรามีทั้งคุณย่าคุณยาย คุณแม่ ภรรยา พี่สาวน้องสาว ลูกสาว หรืออะไรก็ตาม เรามารวมตัวกันและทุกคนเห็นตรงกันในเรื่องอะไรบางอย่าง มันคือปรากฎการณ์
คอร์ตนีย์ นิกซ์ (สหรัฐอเมริกา) 19,312 กม.
ถ่ายภาพโดย ลานาคิลา แม็กนอตัน