การเตือนภัย
Google ใช้ AI มาช่วยใน Google การรับมือภาวะวิกฤต เพราะการแจ้งเตือนที่ดีขึ้นช่วยชีวิตผู้คนในสถานการณ์ฉุกเฉินได้
พายุเฮอร์ริเคนฟลอเรนซ์ก่อตัวในมหาสมุทรแอตแลนติก 2 สัปดาห์ก่อนที่จะพัดเข้าชายฝั่งและทำให้เกิดแผ่นดินถล่มในนอร์ทแคโรไลนาเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นพายุที่เฮอร์ริเคนที่เคลื่อนตัวช้ากว่าปกติ และทำให้มีปริมาณฝนตกในพื้นที่ที่มีแนวโน้มเกิดน้ำท่วมมากกว่าที่เคยบันทึกมา การที่พายุเคลื่อนตัวเข้าฝั่งช้ากว่าที่คาดหมายช่วยให้ผู้คนมีเวลาเตรียมตัวรับมือมากขึ้น
“นี่เป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าหลายวันที่แม่นยำเลยทีเดียวสำหรับสภาวการณ์ที่ซับซ้อนเช่นนี้”
Sara Jamison นักอุทกวิทยาบริการอาวุโสกับกรมอุตุนิยมวิทยา
ด้วยเหตุนี้ ประชาชนจึงได้รับแจ้งเกี่ยวกับสภาพอากาศ จากนั้นการอพยพจึงเริ่มขึ้นและมีการเผยแพร่การแจ้งเตือนภัยพิบัติ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะอพยพออกนอกเส้นทางพายุเฮอร์ริเคน
ผู้คนมักพึ่ง Google ในการหาคำตอบเรื่องต่างๆ เพื่อเตรียมตัวรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างเช่นกรณีเฮอร์ริเคนฟลอเรนซ์ “พันธกิจของเราคือจัดระเบียบข้อมูลของโลกเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้อย่างทั่วถึง” Mor Schlesinger ผู้จัดการด้านซอฟต์แวร์และวิศวกรรมของ Google กล่าว “เวลาที่ผู้คนต้องการข้อมูลนี้มากที่สุดคือเวลาที่เกิดวิกฤต”
ในปี 2010 เกิดเหตุไฟไหม้ขึ้นในเทือกเขาคาร์เมลของอิสราเอล วิศวกรของ Google มองเห็นเปลวไฟได้จากหน้าต่างของสำนักงานแต่กลับไม่พบข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ทางออนไลน์เลย พวกเขาจึงเปลี่ยนทิศทางการทำงานและเริ่มหาวิธีแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ทีมงานเล็กๆ ที่ประสานงานกับรัฐบาลท้องถิ่นได้เผยแพร่แหล่งข้อมูลเกี่ยวกับเหตุฉุกเฉินและทำให้แหล่งข้อมูลเหล่านี้เข้าถึงได้ผ่าน Google Search
ประสบการณ์ในการสร้างการแจ้งเตือนครั้งแรกเป็นตัวบ่งชี้ว่าเราจำเป็นต้องจัดระเบียบข้อมูลในสถานการณ์ฉุกเฉิน
ในสถานการณ์วิกฤติ ผู้คนต่างคร่ำเคร่งหาข้อมูลที่จะช่วยตัดสินใจเกี่ยวกับความปลอดภัยของตน” มาเทียสกล่าว "และเรามีโอกาสที่จะทำให้ข้อมูลนั้นพร้อมสำหรับผู้คนที่ตกอยู่ในช่วงเวลาที่ย่ำแย่ดังกล่าว"
ยอสซี่ มาเทียส รองประธานฝ่ายวิศวกรรมของ Google และหัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาแห่งอิสราเอล
การแจ้งเตือน SOS
เตือนภัยสาธารณะ
การที่เรารู้ว่าเราสามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นเมื่ออยู่ในเหตุการณ์ที่เลวร้ายได้ จะช่วยให้เราเบาใจได้มากขึ้น เพราะสิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือเมื่อเรามีข้อมูลไม่เพียงพอ
Mor Schlesinger ผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรมซอฟต์แวร์ของการรับมือภาวะวิกฤต
การรับมือภาวะวิกฤตของ Google มีอยู่หลากหลายรูปแบบในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และตอนนี้ได้กลายเป็นทีมอย่างเป็นทางการซึ่งมีสมาชิกกว่า 100 คนประจำอยู่ในสำนักงานหลายสิบแห่งทั่วโลกแล้ว นับตั้งแต่ที่ได้เปิดตัวการแจ้งเตือน SOS ไปเมื่อช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 2017 เราได้นำเครื่องมือที่ทีมการรับมือภาวะวิกฤตสร้างขึ้นมาใช้ในช่วงที่เกิดภาวะวิกฤตกว่า 200 เหตุการณ์ทั่วโลก และมีผู้ดูข้อมูลที่เราให้มากกว่า 1.5 พันล้านครั้ง พันธกิจนี้ทำให้ทีมมุ่งมั่นที่จะขยายพื้นที่ให้บริการออกไปอีก Schlesinger กล่าวว่า “เราต้องการตอบแทนสังคมโดยพยายามรับมือกับปัญหาเหล่านี้” เขาก้าวเข้ามาเป็นผู้นำด้านวิศวกรรมของทีม “เราทำเช่นนี้เพราะรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ”
ในสหรัฐอเมริกา ระหว่างที่เกิดพายุอย่างเช่นพายุฟลอเรนซ์ซึ่งส่งผลกระทบต่อแม่น้ำหลายสายที่บรรจบกับแนวชายฝั่งนอร์ทแคโรไลนาและเซาท์แคโรไลนา Jamison กล่าวว่า “การพยายามคาดการณ์สิ่งต่างๆ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับพายุเฮอร์ริเคนเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก”
ในกรณีเหล่านี้ สิ่งที่ทีมมอบให้ได้คือข้อมูลการทำแผนที่ ซึ่งประกอบด้วยเลเยอร์ต่างๆ ที่เน้นเส้นทางของพายุ เส้นทางอพยพภายในรัฐหรือระหว่างรัฐ สถานที่พักพิง รวมถึงการแจ้งเตือน การร่วมมือกับรัฐบาลของรัฐและท้องถิ่นทำให้แสดงข้อมูลเกี่ยวกับถนนและสะพานที่ปิดตลอดแนวชายแดนรัฐได้ การเสนอข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชนทันทีที่จำเป็นมีความสำคัญอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน
แม้ว่าจะมีโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพในการสังเกตสภาพอากาศและวิธีเผยแพร่ข้อมูลหลายต่อหลายวิธี แต่ก็ยังมีประชาชนที่ไม่อพยพแม้จะอยู่ในพื้นที่ที่เคยมีแนวโน้มเกิดอุทกภัยในสหรัฐอเมริกา เพราะบางครอบครัวไม่มีทุนทรัพย์มากพอที่จะไปพักอาศัยที่อื่น บางครอบครัวไม่มีเงินพอจ่ายค่าน้ำมันเพื่ออพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัย ส่วนบางครอบครัวไม่มีพาหนะที่จะพาตนเองหนีภัยธรรมชาติ นอกเหนือจากปัญหาด้านการเงินแล้ว สาเหตุที่ประชาชนบางส่วนในพื้นที่มักไม่อพยพคือคิดว่าภัยพิบัติเหล่านั้นเป็นเพียงเรื่องสร้างความตื่นตระหนก จึงไม่สนใจหรือไม่เชื่อประกาศเตือน
ขณะที่แหล่งข้อมูลอย่างเช่นแผนที่ภัยพิบัติจะมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในช่วงที่เกิดสถานการณ์ฉุกเฉินในสหรัฐอเมริกา เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในส่วนอื่นๆ ของโลกมีความท้าทายหลากหลายรูปแบบและทวีความรุนแรงมากขึ้น ในอินเดียซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุทกภัยคิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ของผู้เสียชีวิตทั่วโลกตามข้อมูลอุทกภัยที่รวบรวมไว้ตั้งแต่ปี 1953 ถึง 2017 โดยคณะกรรมาธิการทรัพยากรน้ำส่วนกลางของอินเดีย การปรับปรุงด้านการคาดการณ์อุทกภัยและโครงสร้างพื้นฐานในการแจ้งเตือนน่าจะบรรเทาปัญหานี้ได้มากทีเดียว
ประชาชนในพื้นที่ไม่เคยได้เข้าถึงข้อมูลอย่างแผนที่ที่แสดงแนวโน้มการเกิดน้ำท่วมสูงในพื้นที่ที่ตนอาศัยอยู่เมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤตมาก่อนเลย
Mor Schlesinger ผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรมซอฟต์แวร์ของการรับมือภาวะวิกฤต
เมื่อเปิดใช้งานการแจ้งเตือน SOS และเตือนภัยสาธารณะ ประชาชนจะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับระดับน้ำ สาเหตุที่ระดับน้ำนั้นๆ เป็นอันตรายพร้อมบริบทที่อิงจากอดีตที่ผ่านมา ระยะเวลากว่าที่อันตรายจะผ่านพ้นไป การปฏิบัติที่แนะนำ และแหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
แพลตฟอร์มนี้เป็นศูนย์กลางข้อมูลที่ครอบคลุมตั้งแต่ต้นจนจบซึ่งได้รับการจัดระเบียบให้เหมาะกับแต่ละท้องถิ่นและนำไปปฏิบัติได้จริง
การแจ้งให้ประชาชนทราบว่ากำลังจะเกิดน้ำท่วมเป็นเรื่องที่ดี แต่เราหวังว่าจะเสนอวิธีง่ายๆ ที่ช่วยอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นและให้ข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการตัดสินใจ
Mor Schlesinger ผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรมซอฟต์แวร์ของการรับมือภาวะวิกฤต
โครงสร้างพื้นฐานนี้เป็นการลงทุนด้านแมชชีนเลิร์นนิงและ AI ที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ เนื่องจากมีไว้สำหรับติดตามดูรูปแบบสภาพอากาศซึ่งทำให้สภาพแม่น้ำและพื้นที่โดยรอบมีแนวโน้มที่จะเกิดอุทกภัย Schlesinger ชี้แจงว่า “การผสานเทคโนโลยีทั้ง 2 ซึ่งทำหน้าที่คนละอย่าง และการประมวลผลแบบคลาวด์เข้าด้วยกัน” ช่วยให้เราคาดการณ์ภาวะน้ำท่วมและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบได้ดีขึ้น
ปัจจุบัน พื้นที่ที่มีแนวโน้มเกิดอุทกภัยในอินเดียมีการแจ้งเตือนล่วงหน้า 24 ชั่วโมงเพื่อให้ประชาชนอพยพในช่วงฤดูมรสุม ทีมการรับมือภาวะวิกฤตและการวิจัยของ Google หวังจะใช้ข้อมูลที่เก็บรวบรวมจากการลงพื้นที่มาขยายกรอบเวลาในการแจ้งเตือนให้กว้างขึ้นเป็น 72 ชั่วโมง การสร้างสภาพแวดล้อมที่มีประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ อพยพจากพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยเป็นประจำได้อย่างปลอดภัยทำได้โดยการคาดการณ์ตั้งแต่เนิ่นๆ และรับประกันว่าข้อมูลนั้นแม่นยำมากพอที่จะได้รับความเชื่อถือจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ
สำหรับ Schlesinger แล้ว อนาคตของการรับมือภาวะวิกฤตขึ้นอยู่กับการนำเครื่องมือที่ทีมได้พัฒนาไว้ไปใช้ในพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น และรวบรวมแหล่งข้อมูลไว้ในที่ที่เข้าถึงได้ง่ายเพียงที่เดียว วิธีนี้จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้การแจ้งเตือนและข้อมูลที่ Google ให้
ในช่วงวิกฤต คุณมีเวลาน้อยมากในการตัดสินใจที่อาจส่งผลต่อชีวิตของคุณเองหรือต่อชีวิตของคนที่คุณรัก การได้รับข้อมูลที่กระชับและครบถ้วนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง
Mor Schlesinger ผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรมซอฟต์แวร์ของการรับมือภาวะวิกฤต