พบกับทีมที่ใช้แมชชีนเลิร์นนิงเพื่อช่วยกอบกู้เหล่าผึ้งตัวน้อยของโลก
ครอบครัวของ Katharina Schmidt นั้นผูกพันกับผึ้งมาตั้งแต่เธอจำความได้ “ฉันเคยถามคุณตาครั้งหนึ่งว่า ‘บ้านเราเลี้ยงผึ้งมานานแค่ไหนแล้วคะ’ ท่านตอบว่า ‘อย่างน้อยก็ตั้งแต่ปี 1894’ และนั่นคือปีเกิดของคุณพ่อฉัน” เธอยังคงจำโรงเลี้ยงผึ้งที่อยู่ถัดจากบ้านของคุณตาได้เป็นอย่างดี จนกระทั่งปีหนึ่งในช่วงกลางทศวรรษที่ 1990 โรงเลี้ยงนั้นก็อันตรธานหายไป ผึ้งทั้งฝูงตายหมดไม่เหลือ
Katharina กลับมาสนใจเรื่องผึ้งอีกครั้งเมื่อ 3 ปีที่แล้ว หลังจากที่เธอได้อ่านเกี่ยวกับการล่มสลายของอาณานิคมผึ้งทั่วโลก เธอเลี้ยงผึ้งเองและเริ่มช่วยหาตลาดรองรับน้ำผึ้งให้คนเลี้ยงผึ้งรายอื่นๆ แต่ไม่นานเธอก็ตระหนักถึงขอบเขตที่แท้จริงของปัญหา “ปัญหาไม่ใช่ว่าจำนวนผึ้งมีไม่เพียงพอ แต่จริงๆ แล้วคือผึ้งและแมลงอื่นๆ ทั่วโลกกำลังพากันล้มตายเป็นจำนวนมากโดยที่เราไม่รู้สาเหตุว่าทำไม และนั่นทำให้ฉันไม่พอใจเป็นอย่างมาก”
เมื่อ 1 ปีครึ่งที่แล้ว Katharina กับรูมเมทของเธอนั่งครุ่นคิดเพื่อหาทางช่วยชีวิตผึ้ง หลังจากนั่นไม่นาน เธอก็เปิดบริษัท apic.ai ขึ้น ทีมของเธอได้สร้างเครื่องมือตรวจสอบรังผึ้งโดยใช้ TensorFlow (เฟรมเวิร์กแมชชีนเลิร์นนิงโอเพนซอร์สของ Google) เพื่อเก็บข้อมูล เครื่องมือดังกล่าวติดตั้งกล้องที่จะบันทึกวิดีโอไฟล์ดิบตลอด 24 ชั่วโมง โดยจะคอยติดตามกิจกรรมต่างๆ เช่น จำนวนผึ้งที่กลับรังในทุกๆ วัน วิธีเคลื่อนไหว และดูได้ว่าพวกมันนำเกสรดอกไม้กลับมาด้วยหรือไม่ จากนั้นก็จะนำข้อมูลไปแชร์ให้กับผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้มีข้อมูลมากขึ้นสำหรับการตัดสินใจดำเนินการต่างๆ เช่น สถานที่ที่ควรปลูกต้นไม้และดอกไม้ เป็นต้น
ในสายตาของ Katharina แล้วนั้น การเข้าถึงข้อมูลจะนำไปสู่การตัดสินใจที่รอบคอบมากขึ้น “ความหวังของเราคือการมอบข้อมูลที่จำเป็นทั้งหมดให้ผู้มีอำนาจได้ตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ถ้าคุณแสดงข้อมูลและผลลัพธ์ของการกระทำให้พวกเขาดู คุณจะเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของพวกเขาได้ และมันจะเปลี่ยนแปลงโชคชะตาของโลกใบนี้
“อย่างน้อยฉันก็หวังว่านั่นคือสิ่งที่จะเกิดขึ้น”