การรับมือภาวะวิกฤต
วิธีที่สมาร์ทโฟนอาจช่วยชีวิตคุณได้ในกรณีฉุกเฉิน
Google ร่วมมือกับบริการฉุกเฉินปรับปรุงเทคโนโลยีข้อมูลตำแหน่งสำหรับหน่วยกู้ภัย
ใช้เวลาอ่าน 5 นาที
Christian Steiner คือนักบินเฮลิคอปเตอร์กู้ภัยที่ทำงานในเทือกเขาแอลป์ของออสเตรียตอนล่าง ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ขึ้นชื่อเรื่องความอันตรายไม่แพ้ความสวยงาม พื้นที่ดังกล่าวได้รับความนิยมจากนักปีนเขา นักร่มร่อน และนักสกีเป็นอย่างมาก จึงมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นเป็นประจำ ปัญหาคือก่อนหน้านี้เวลาที่ Christian ออกไปปฏิบัติภารกิจกู้ภัยในพื้นที่อันเวิ้งว้างกว้างใหญ่ของอัลไพน์นั้น เขาไม่ได้รู้ทุกครั้งว่าต้องไปหา "ที่ไหน"
เป็นเวลาหลายปีที่เขาต้องพึ่งเทคโนโลยีบอกตำแหน่งอันล้าสมัย ซึ่งประมาณตำแหน่งของผู้โทรโดยใช้เสาสัญญาณมือถือที่ใกล้ที่สุดเท่านั้น ค่าประมาณนั้นอาจอยู่ในช่วงตั้งแต่ 100 เมตรไปจนถึง 20 กิโลเมตร ซึ่งอาจหมายถึงการบินไปผิดยอดเขาหรือภูเขาผิดลูกเลยก็ได้
นี่ไม่ใช่แค่ปัญหาสำหรับนักบินเฮลิคอปเตอร์อย่าง Christian เท่านั้น แต่ยังทำความลำบากให้งานบริการช่วยเหลือฉุกเฉินมาเป็นเวลาหลายปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่โทรศัพท์มือถือได้กำเนิดขึ้น การโทรหาหมายเลขฉุกเฉินด้วยโทรศัพท์บ้านนั้นเชื่อมต่อกับที่อยู่ที่แน่นอน แต่การโทรจากมือถือนั้นเกิดขึ้นได้ทุกที่
ผู้โทรมักสับสน งุนงง และไม่สามารถอธิบายได้อย่างชัดเจนว่าอยู่ที่ไหน และทุกนาทีที่ใช้ในการค้นหาพวกเขา ก็อาจนำไปสู่ความเสียหายถึงขั้นเสียชีวิตได้
“ฉันคิดมาเสมอว่าเจ้าหน้าที่หน่วยฉุกเฉินมีสิทธิ์เข้าถึงสุดยอดเทคโนโลยีบอกตำแหน่งอันล้ำสมัยนี้” Maria Garcia Puyol วิศกรของ Google กล่าว Maria ทำงานด้านบริการตำแหน่งใน Android ซึ่ง Android คือระบบปฏิบัติการบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่สร้างโดย Google แพลตฟอร์มดังกล่าวเป็นแบบโอเพนซอร์สและให้บริการในอุปกรณ์กว่า 2.5 พันล้านเครื่อง (ผลิตโดยแบรนด์ต่างๆ กว่า 1,300 แบรนด์) ทั่วโลก เพื่อให้มั่นใจว่าจุดสีน้ำเงินใน Google Maps นั้นแม่นยำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เมื่อเธอรู้ว่าบริการฉุกเฉินไม่ได้รับข้อมูลตำแหน่งแบบเดียวกับที่แท็กซี่หรือบริษัทจัดส่งอาหารได้รับ เธอจึงมุ่งมั่นที่จะแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้น
วิศวกรของ Google คนอื่นๆ ต่างก็สนับสนุนโครงการของ Maria และในที่สุดเธอก็ได้ทำงานร่วมกับอีกหนึ่งพันธมิตรที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง นั่นก็คือ European Emergency Number Association (EENA) EENA ทำงานมานานกว่าทศวรรษเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนเทคโนโลยีตำแหน่งฉุกเฉินที่ดียิ่งขึ้น ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านโปรโตคอลการกู้ภัยทั่วยุโรป EENA รู้จักเกือบทุกคนที่ทำงานในสาขานี้
“คุณรู้สึกว่าคุณมีส่วนร่วมในการช่วยชีวิตคน นี่คือเหตุผลที่ผมตื่นไปทำงานแต่เช้าตรู่ทุกวัน” Benoît Vivier กล่าว เขาคือผู้ที่ดูแลกิจการสาธารณะที่ EENA แม้ว่าบางประเทศได้ปรับปรุงความแม่นยำในการบอกตำแหน่งเพื่อการรับมือเหตุฉุกเฉินแล้วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปอย่างเชื่องช้าและจำกัดอยู่ในวงแคบ ทันทีที่ EENA และ Google รู้ว่าอีกฝ่ายต่างก็ทำงานโดยมีเป้าหมายเดียวกัน ทั้ง 2 องค์กรจึงตัดสินใจร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหานี้
และในอีกไม่กี่เดือนหลังจากนั้น เราก็ได้เปิดตัวบริการตำแหน่งกรณีฉุกเฉินของ Android (ELS) ในโทรศัพท์ Android กว่า 99% โดยบริการดังกล่าวคือการใช้ข้อมูลร่วมกันจากแหล่งต่างๆ เช่น โครงข่าย 3 เหลี่ยมของเสาสัญญาณมือถือ, Assisted GPS และ Wi-Fi ทำให้เกิดเทคโนโลยีที่ระบุตำแหน่งได้แม่นยำกว่าระบบเดิมถึง 3,000 เท่าในประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก1 เมื่อใดก็ตามที่มีการโทรหาหมายเลขฉุกเฉินจากโทรศัพท์ Android ในประเทศที่ใช้งาน ELS ระบบจะส่งพิกัดไปยังบริการฉุกเฉินโดยอัตโนมัติ โดยข้อมูลตำแหน่ง ELS จะส่งตรงจากโทรศัพท์ไปยังเจ้าหน้าที่หน่วยฉุกเฉิน
รัศมีการค้นหาเมื่อใช้ ELS
12 ม.
6 ม.
รัศมีการค้นหาเมื่อไม่ใช้ ELS
900 ม.
14 กม.
ก่อนที่จะมีเทคโนโลยี ELS หน่วยกู้ภัยส่วนใหญ่จะหาตำแหน่งของสายที่ต้องการความช่วยเหลือฉุกเฉินได้จากตำแหน่งของเสาสัญญาณโทรศัพท์ที่ใกล้ที่สุดเท่านั้น ซึ่งอาจกว้างได้ถึง 20 กิโลเมตร
ตัวอย่าง 1
ตัวอย่าง 2
Maria ยังคงจำครั้งแรกที่เธอได้ยินเรื่องราวความสำเร็จของ ELS ได้เป็นอย่างดี ในเดือนมกราคม ปี 2017 เด็กชายชาวลิทูเนียอายุ 7 ขวบที่ชื่อว่า Nojuh เห็นพ่อชักและหมดสติในห้องนั่งเล่น เด็กชาย Nojuh ตกใจมากและคว้าโทรศัพท์มือถือของพ่อมาโทรหาหมายเลขฉุกเฉินทันที เขาไม่รู้ที่อยู่บ้านตนเอง และเสาโทรศัพท์ที่อยู่ใกล้ที่สุดจะจำกัดตำแหน่งของเขาให้แคบลงได้แค่ในรัศมี 14 กิโลเมตร โชคดีที่ ELS ให้บริการในประเทศลิทูเนียก่อนหน้านี้ 3 เดือน และเจ้าหน้าที่บริการฉุกเฉินได้รับตำแหน่งของ Nojuh โดยมีรัศมีกว้างเพียง 6 เมตร2 รถพยาบาลออกเดินทางอย่างรวดเร็วและนำตัวพ่อของ Nojuh ไปส่งโรงพยาบาลใกล้เคียงเพื่อรับการรักษา
ตอนนี้ ELS พร้อมให้ใช้งานแล้วกว่า 20 ประเทศใน 5 ทวีป และช่วยส่งข้อมูลตำแหน่งให้กับสายที่ต้องการความช่วยเหลือฉุกเฉินกว่า 2 ล้านสายต่อวัน3 เรื่องราวลักษณะนี้เกิดขึ้นอยู่ทั่วโลก EENA และ Google จึงยังไม่หยุดขยายและปรับปรุงเทคโนโลยีนี้ให้ดียิ่งขึ้น “ความหวังของเรา” Maria กล่าว “คือต้องไม่มีใครเสียชีวิตเพราะเจอตัวช้าเกินไป”
สำหรับ Christian นั้น การทำงานของเขามีความเสี่ยงตลอดเวลา แต่เขาก็วางใจว่าเทคโนโลยีใหม่นี้จะช่วยชีวิตเขาและผู้ประสบภัยได้ “แรงจูงใจที่สำคัญที่สุดในงานของผมก็คือการช่วยคน ไม่ว่าเขาจะตกอยู่ในสถานการณ์แบบไหนก็ตาม” เขากล่าว “ถ้าช่วยได้ ผมจะช่วย”
- 1 รายงานฉบับสมบูรณ์ของ European Union Help112 ปี 2017
- 2 ประสิทธิภาพของ ELS นั้นอาจแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม เงื่อนไขเครือข่าย โปรโตคอลการรับส่งข้อมูลที่พาร์ทเนอร์เลือก และระดับความเชื่อมั่น ฯลฯ
- 3 ขึ้นอยู่กับข้อมูลภายในของ Google