นักโบราณคดีคนหนึ่งพิทักษ์และส่งต่อมรดกทางวัฒนธรรมไอยคุปต์กับชาวโลกได้อย่างไร
ดร. โมนิกา แฮนนา ทุ่มเทสุดตัวเพื่อเดินบนเส้นทางของตัวเอง ไม่ว่าโอกาสจะน้อยนิดเพียงใด ตั้งแต่เป็นเด็กหญิงตัวเล็กๆ ที่อาศัยในอียิปต์ เธอก็ตั้งใจจะเป็นนักโบราณคดีและมีผู้เป็นแม่คอยสนับสนุน แม้ว่าในตอนนั้นจะเป็นสาขาวิชาที่ผู้ชายเป็นใหญ่ และปัจจุบันก็ยังคงเป็นเช่นนั้นอยู่ก็ตาม
ทุกวันนี้ ดร. แฮนนาไม่เพียงเป็นนักโบราณคดีชั้นนำ แต่ยังเป็นนักวิชาการที่มีชื่อเสียง เป็นคณบดีผู้ก่อตั้งศูนย์มรดกทางวัฒนธรรมและโบราณคดีที่สถาบัน Arab Academy for Science, Technology and Maritime Transport และยังเป็นแรงบันดาลใจให้สตรีในโลกอาหรับ รวมถึงลูกสาววัย 5 ขวบอีกด้วย
ภารกิจของ ดร. แฮนนาในการอนุรักษ์มรดกของอียิปต์ไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป ส่วนหนึ่งเนื่องจากแต่ก่อนนั้นไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างทั่วถึง ในช่วงเริ่มต้นเส้นทางนักวิชาการของ ดร. แฮนนา การรวบรวมหรือเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อียิปต์นั้นทำได้ยากยิ่ง
ดร. แฮนนาต้องเดินทางผ่านกรุงไคโรอันวุ่นวายเพื่อไปยังห้องสมุดและตั้งหน้าตั้งตาอ่านบทความเพื่อพยายามหาเอกสารงานวิจัยที่เหมาะสมกับหัวข้อค้นคว้าของเธอ แล้วก็พบว่าส่วนใหญ่ไม่มีอยู่หรือไม่อาจหาได้ที่อียิปต์ เอกสารส่วนใหญ่ที่เธอพบและนำมาใช้ก็ไม่ได้เขียนในภาษาอาหรับ
เมื่อออกภาคสนาม เธอต้องค้นหาแหล่งขุดค้นทางโบราณคดีกลางทะเลทรายโดยมีเพียงแผนที่กระดาษคอยนำทางและอยู่ห่างไกลจากที่อื่นๆ หลายสิบกิโลเมตร เมื่อไม่มีภาพถ่ายดาวเทียมมาคอยช่วยเหลือ ก็ไม่มีอะไรมารับประกันได้เลยว่าแหล่งโบราณคดีนั้นจะมีอยู่จริงๆ
ผลิตภัณฑ์ของ Google เช่น Search, Scholar และ Maps คือจุดเปลี่ยนสำคัญในการทำงานของ ดร. แฮนนา ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญทั้งสำหรับงานวิจัยของเธอเองและในหลักสูตรที่ใช้สอนนักศึกษา ในกรณีของ Google Scholar เธอใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มเพื่อขยายขอบเขตการศึกษาของตัวเอง ขณะเดียวกันก็กลับมามีส่วนร่วมสนับสนุนแพลตฟอร์มโดยเผยแพร่การอ้างอิงของเธอกับนักวิชาการคนอื่นทั่วโลก
แม้ว่าการทำงานของ ดร. แฮนนาจะอยู่ในอียิปต์ แต่เธอก็เชื่อมโยงถึงผู้อ่านทั่วโลกได้ และสร้างองค์ความรู้จากชุมชนงานวิจัย จากนั้นก็เผยแพร่ผลการค้นคว้าไปทั่วโลกโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
ดร.แฮนนาช่วยเพิ่มคุณค่าให้ความเข้าใจที่โลกมีต่อมรดกของอียิปต์ ช่วยดึงดูดผู้เยี่ยมชมจากทั่วโลก และประสานช่องว่างระหว่างคนรุ่นใหม่กับประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรมของตัวเอง ในการอนุรักษ์มรดกของอียิปต์ครั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่า ดร. แฮนนาได้สร้างมรดกของตัวเองด้วย