หญิงแกร่งสู้วิกฤตน้ำ
วิธีที่ผู้หญิง 6 คนออกมาเคลื่อนไหวและใช้เทคโนโลยีเพื่อฝ่าวิกฤตน้ำปนเปื้อน
ใช้เวลาอ่าน 10 นาที
รัฐบาลไม่ยอมฟังผู้ใหญ่ ส่วนผู้ใหญ่เองก็ไม่ฟังรัฐบาล ฉันก็เลยคิดว่าทั้งคู่อาจจะหันมาฟังเด็กอย่างฉันก็ได้
Mari Copeny
เรารู้ว่าน้ำดื่มที่โรงเรียนคุณภาพไม่ดีเพราะมีการวัดค่าสารตะกั่วในน้ำทุกปี ปัญหาน้ำนี่แหละเป็นเรื่องที่เราอยากแก้ไข
India Skinner
คุณจะทำอย่างไรถ้าผู้คนไม่รู้ว่ามีชุมชน 3,000 แห่งในสหรัฐอเมริกาที่มีระดับสารตะกั่วในน้ำมากกว่าที่เมืองฟลินท์ รัฐมิชิแกนเสียอีก
Doll Avant
ฉันคิดว่าการเป็นวิทยาศาสตร์ก็เหมือนได้เป็นซุปเปอร์ฮีโร่เลยแหละ เพราะซุปเปอร์ฮีโร่ช่วยชีวิตคนและต้องการทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์สูงสุดของสังคม นักวิทยาศาสตร์ก็ไม่ต่างกัน
Gitanjali Rao
ตอนที่โรคไวรัสซิการะบาด Gitanjali Rao ซึ่งปัจจุบันอายุ 13 ปี พยายามหาวิธีใหม่ในการปรับแต่งยีนที่จะช่วยยับยั้งการระบาดของโรคดังกล่าว
เมื่อครั้งที่ Malaysia Airlines เที่ยวบิน 370 หายไปจากมหาสมุทรอินเดีย เธอหาวิธีประดิษฐ์กล่องดำที่ดีกว่าเดิม
และเมื่อทราบว่าคนที่โรงเรียนถูกกลั่นแกล้งในโซเชียลมีเดีย เธอก็สร้างแอปที่ตรวจหาและสอดส่องข้อความกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์
ถ้า Rao รู้ว่ามีปัญหาอะไรอยู่ข้างหน้า เธอก็จะพยายามแก้ไขให้ได้
คนส่วนใหญ่คิดว่าฉันเป็นเด็กอายุ 11 ปีที่มีไอเดียง่ายๆ ไว้จัดแสดงในงานวิทยาศาสตร์ แต่ถ้าฉันพัฒนาอุปกรณ์นี้ให้ใช้งานได้จริง ก็ช่วยคนในเมืองฟลินท์ได้เยอะมาก
Gitanjali Rao
Rao เป็นนักกิจกรรมตัวยง เธอร่วมทำโครงการกับ STEM Scouts of America เป็นพิธีกรร่วมให้รายการวิทยาศาสตร์ในสถานีวิทยุสาธารณะ และยังเขียนบทละครอีกด้วย แต่สิ่งที่ทำให้เด็กคนนี้แตกต่างจากเด็กอื่นๆ ก็คือความปรารถนาที่จะช่วยเหลือผู้คน เธอเล่าว่า "ฉันชอบช่วยคนอื่นอยู่ตลอดเลยค่ะ จะล้างจานตอนเย็นที่บ้านหรือไปเล่นเปียโนที่โรงพยาบาลก็ได้ ฉันอยากสร้างการเปลี่ยนแปลงในโลกที่เปลี่ยนชีวิตผู้คนได้"
เมื่อตอนที่นักเคลื่อนไหวทางสังคมในเมืองฟลินท์ รัฐมิชิแกน ได้ทำให้โลกหันมาสนใจวิกฤตน้ำปนเปื้อนของเมือง Rao ก็ได้จุดประกายความคิดที่จะสร้างเครื่องมือโดยใช้เทคโนโลยี Android ที่จะช่วยเหลือคนได้หลายล้านคน โดยหารู้ไม่ว่าเธอจะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวครั้งยิ่งใหญ่ที่เกิดขึ้นจากเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่อยากรวมพลังคนที่ช่วยได้
พบกับผู้จุดประกายที่ปลุกใจคนทั้งชาติ
ณ การชุมนุมที่เมืองฟลินท์เมื่อปีก่อน ผู้จัดงานได้เชิญให้ Amariyanna “Mari” Copeny ขึ้นพูดบนเวทีร่วมกับ Janelle Monáe และ Stevie Wonder และ Little Miss Flint ได้รับเสียงเชียร์จากแฟนๆ ในบ้านเกิด
Copeny ในวัย 11 รักการอยู่ท่ามกลางฝูงชน แต่สิ่งที่ทำให้เธอพิเศษกว่าใครคือความสำนึกในหน้าที่อย่างเหลือล้นของเธอ หลังจากที่ชนะการประกวดเวทีนางงาม Little Miss Flint ในปี 2015 เธอใช้ตำแหน่งที่ได้รับเพื่อเริ่มบทสนทนาระหว่างเด็กๆ กับตำรวจในเมืองฟลินท์
และเมื่อคุณภาพน้ำในเมืองฟลินท์เริ่มแย่ลง การอาบน้ำนานๆ ก็ทำให้ผิวของ Copeny ระคายเคือง น้องๆ ของเธอเองก็เป็นผื่นแดง เธอรู้ว่าถึงเวลาต้องทำอะไรสักอย่าง น้ำที่มีฤทธิ์กัดเนื้อเยื่อนี้เกิดจากท่อเหล็กที่สึกกร่อนและสารตะกั่วที่ซึมออกจากท่อเก่าๆ ในบ้านและอาคารในท้องถิ่น แต่คนในชุมชนยังไม่รู้เรื่องนี้เลย ณ ตอนนั้น เมืองฟลินท์เต็มไปด้วยข้อมูลที่ไม่ตรงตามความจริงและความสับสน Little Miss Flint รู้ว่าถึงเวลาแล้วที่เธอต้องออกมาเป็นกระบอกเสียงให้ชุมชน
เมื่อต้นปี 2016 มีเพื่อนใหม่มาเยี่ยม Little Miss Flint เขาคนนั้นคือประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา เธอเขียนจดหมายถึงประธานาธิบดีโอบามา เพื่อขอเข้าเยี่ยมตอนที่เธอไปวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อเข้าฟังประชาพิจารณ์โดยรัฐสภาสหรัฐเกี่ยวกับวิกฤตน้ำปนเปื้อนในเมืองฟลินท์ แต่โอบากลับมาพบเธอที่เมืองฟลินท์แทน และนั่นทำให้ทั้งประเทศหันมาสนใจเมืองนี้
ฉันเป็นเด็กคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากน้ำปนเปื้อนและพยายามเดินประท้วงและเป็นกระบอกเสียงให้แก่เด็กๆ ที่อาศัยอยู่ในเมืองฟลินท์
Mari Copeny
ใน 1 ปีข้างหน้า Little Miss Flint จะปรากฏอยู่ใน Teen Vogue และ Time for Kids รวมถึงในการชุมนุมด้วย การเคลื่อนไหวของเด็กหญิงผู้ชนะเวทีนางงามมักคำนึงถึงเด็กๆ ในเมืองฟลินท์เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการระดมเงินบริจาคเพื่อซื้อตั๋วชมภาพยนตร์เรื่อง Black Panther หรือการรับบริจาคอุปกรณ์การเรียนการสอนในโรงเรียนเพื่อให้ครอบครัวได้มีเงินเหลือไว้ซื้อเครื่องกรองน้ำสำหรับก๊อกน้ำในบ้าน
Copeny กล่าวว่า "ฉันเลิกประกวดนางงามแล้วค่ะ ฉันหันมาเป็นกระบอกเสียงให้คนในชุมชนแทน"
การรณรงค์ของ Little Miss Flint โด่งดังไปทั่วประเทศ ผู้คนเริ่มมองหาวิธีแก้ปัญหาในระยะยาว ซึ่งรวมถึงวิศวกรรุ่นเยาว์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเทคโนโลยีของ NASA เพื่อสร้างที่กรองน้ำแบบใสที่คุณเห็นกระบวนการกรองได้
S3 Trio จากวอชิงตัน ดี.ซี. ทำงานร่วมกับ NASA เพื่อนำสารตะกั่วออกจากน้ำ
กลุ่มเพื่อนซี้ Mikayla Sharrieff, India Skinner และ Bria Snell ตัดสินใจว่าจะไปทำงานบริการชุมชนเป็นระยะเวลา 270 ชั่วโมงเพื่อจบหลักสูตรมัธยมศึกษาที่ศูนย์เพื่อชุมชนชื่อว่า Inclusive Innovation Incubator (In3) ศูนย์เพื่อชุมชนแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเพื่อให้ผู้สนใจอยากทำธุรกิจในวอชิงตัน ดี.ซี. ได้เรียนรู้การเขียนโค้ด พัฒนาทักษะทางสังคม และสร้างเครือข่าย พวกเธอรู้เลยว่าที่นี่เหมาะกับตนเป็นอย่างยิ่ง
Marissa Jennings ที่ปรึกษาของสาวๆ ที่ In3 แนะนำว่าพวกเธอควรเข้าร่วมการแข่งขันของ NASA ที่ชื่อว่า Optimus Prime Spinoff Promotion and Research Challenge (OPSPARC) สาวๆ ซึ่งเป็นนักเรียนม.6 ก็ตื่นเต้นมากที่จะสร้างผลงานที่แตกหน่อมาจากเทคโนโลยีของ NASA ที่มีอยู่แล้ว
และพวกเธอกลับมาที่ประเด็นเรื่องน้ำอีกครั้ง เมื่อไม่นานมานี้ โรงเรียนห้ามไม่ให้นักเรียนดื่มน้ำจากก๊อกน้ำดื่มและเอาถุงขยะมาครอบอ่างเอาไว้หลังจากที่งานก่อสร้างทำให้น้ำในโรงเรียนปนเปื้อน เมื่อเมืองฟลินท์และโรงเรียนใกล้ๆ ในบอลทิมอร์เริ่มแจกน้ำดื่มบรรจุขวด อ่างน้ำดื่มที่ปิดไปดูเหมือนจะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่ใหญ่กว่า
สาวๆ ได้แรงบันดาลใจจากเทคโนโลยีการกรองน้ำจากโครงการ Apollo ของ NASA และสงสัยว่านักบินอวกาศรักษาระดับน้ำในร่างกายด้วยการดื่มปัสสาวะที่นำมารีไซเคิลได้อย่างไร แต่อ่างน้ำดื่มที่โรงเรียนปนเปื้อนสารพิษ
"เรารู้ว่ามีที่กรองน้ำที่นำมาใช้ได้ แล้วทำไมน้ำเรายังไม่สะอาดล่ะ"
India Skinner
สาวๆ นึกถึงดีไซน์ที่โปร่งใสที่จะช่วยให้เรามองเห็นการกรองที่มีประสิทธิภาพ ใครๆ ต่างก็กังขาในคุณภาพของน้ำ โดยเมืองในสหรัฐอเมริกาถึง 3,000 เมืองมีระดับสารตะกั่วในน้ำดื่มมากกว่าเมืองฟลินท์เสียอีก แต่การทดสอบคุณภาพน้ำกลับไม่แพร่หลาย ด้วยเหตุนี้ผู้คนจึงจำเป็นต้องเห็นการทำงานของเครื่องกรอง Skinner กล่าวว่า "ชุมชนควรมีน้ำสะอาดไว้ดื่มไว้ใช้ เราจึงตัดสินใจสร้างเครื่องกรองที่คุณสามารถเห็นน้ำที่กำลังกรองอยู่จริงๆ"
เครื่องกรองต้นแบบใช้พัดลมอันเล็กๆ เพื่อผลักสารพิษผ่านเครื่องกรอง เพื่อแสดงให้เห็นว่าน้ำสะอาดจริงๆ แถบการทดสอบค่า pH ในหลอดใสจะแสดงระดับ pH ที่เป็นกลาง
S3 Trio (ชื่อกลุ่มของเด็กสาวทั้งสาม) ได้รางวัลที่ 2 โดยรวมและชนะรางวัลที่ Goddard Space Flight Center ของ NASA ซึ่งพวกเธอได้พบกับสมาชิกของ National Society of Black Engineers เพื่อสานต่อโครงการนี้ แต่สำหรับพวกเธอแล้ว รางวัลที่ดีที่สุดคือการได้สร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนอื่น
คนในชุมชนที่สนใจเรื่องสะเต็มศึกษาก็จะเห็นพวกเราเอง เราก็เหมือนเด็กม. ปลายทั่วๆ ไปนะคะ
Mikayla Sharrieff
หลังจากที่ Little Miss Flint เป็นกระบอกเสียงให้แก่เด็กๆ ในชุมชน S3 Trio ก็ตอบรับด้วยการเข้ามาช่วยเหลือด้วยเช่นกัน และเด็กสาวจากรัฐโคโลราโดก็มาพร้อมกับเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ซอฟต์แวร์ Android และ Buckypaper เพื่อช่วยให้ผู้คนทดสอบสารเคมีที่อยู่ในน้ำที่บ้านของตนเองได้
วิธีที่เด็กผู้หญิงคนหนึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าไม่มีปัญหาใดใหญ่เกินแก้
เมื่อ Gitanjali Rao เริ่มระดมความคิดว่าเธอจะช่วยแก้ไขวิกฤตน้ำในเมืองฟลินท์ได้อย่างไร เธอคิดว่าจะต้องหาวิธีกำจัดสารตะกั่วออกไปจากน้ำให้ได้ เธอบอกว่า "มันคลัายกับการแก้ปัญหาโลกร้อนโดยใช้วิธีเพียงวิธีเดียว ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย"
เมื่อเกิดวิกฤตในเมืองฟลินท์ ครอบครัวของ Rao รวมถึงครอบครัวอื่นๆ ในประเทศก็ทดสอบน้ำของตนเอง ความยุ่งยากในการทดสอบทำให้ Rao ประหลาดใจมาก นอกจากการทดสอบจะมีราคาแพงแล้วยังใช้เวลานานถึง 2 สัปดาห์อีกด้วย สำหรับ Rao เรื่องที่น่ากลัวที่สุดเรื่องหนึ่งของวิกฤตน้ำปนเปื้อนในฟลินท์คือการไม่ทราบว่าน้ำปลอดภัยหรือไม่ Rao พบว่าแค่การสามารถทดสอบน้ำได้ก็น่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมากแล้ว
Rao มักจะอ่านหน้าเว็บของ Massachusetts Institute of Technology เกี่ยวกับวัสดุศาสตร์ และเธอก็พบบางอย่างที่น่าจะช่วยเมืองฟลินท์ได้
ฉันพบเทคโนโลยีใหม่ที่ใช้เซ็นเซอร์ท่อนาโนคาร์บอนในการตรวจหาก๊าซอันตรายในอากาศ ฉันเลยย้อนกลับมาคิดเรื่องการตรวจหาตะกั่ว...ในน้ำดื่ม
Gitanjali Rao
Rao คิดว่าในเชิงทฤษฎี การใช้ท่อนาโนคาร์บอนประเภทหนึ่งที่เรียกว่า "Buckypaper" จะเป็นวัสดุที่สมบูรณ์แบบสำหรับแผ่นทดสอบน้ำ เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมากที่ได้รู้ว่าเธอค้นพบบางสิ่งที่ไม่เคยมีใครลองทำมาก่อน แต่เธอจะต้องสร้างเครื่องมือมาทดสอบก่อน ยังมีงานที่ต้องทำอีกมากทีเดียว
การไปเยี่ยมชมแหล่งเก็บน้ำท้องถิ่นในเดนเวอร์ทำให้ Rao ได้รู้จักกับ Selene Hernandez Ruiz ผู้จัดการห้องทดลอง โดย Ruiz รู้สึกทึ่งที่ Rao มีความเข้าใจเรื่องอุทกวิทยาระดับเดียวกับด็อกเตอร์เลยทีเดียว ยิ่งฟังเด็กคนนี้พูด Ruiz ตระหนักได้ว่าเธอไม่ได้กำลังฟังแค่ไอเดียที่ยอดเยี่ยม แต่กำลังพูดคุยอยู่กับบุคคลที่มีความพิเศษ Ruiz เล่าว่า "Gitanjali…วางตัวเหมือนผู้ใหญ่คนหนึ่งเลย ทั้งในแง่การพูดจาและความรู้ด้านวิทยาศาสตร์" หลังจากนั้นไม่นานเธอก็มาช่วย Rao ทดสอบอุปกรณ์ที่เธอใช้ชื่อว่า Tethys
ตอนที่รู้ว่าฉันได้พื้นที่ในห้องทดลอง ฉันเก็บความดีใจเอาไว้ข้างในก่อน แต่พอกลับถึงบ้านก็กรี๊ดลั่นเลย วันนั้นเป็นหนึ่งในวันที่ดีที่สุดในชีวิตเลยจริงๆ นะ
Gitanjali Rao
เมื่อ Rao และ Ruiz ได้ทำงานร่วมกัน มิตรภาพที่ก่อเกิดขึ้นมีแต่จะทำให้ Tethys ใกล้ความเป็นจริงมากขึ้น ผลการทดสอบล่าสุดแสดงว่าอุปกรณ์ตรวจพบโลหะประเภทอื่นๆ จึงมีความเป็นไปได้ว่าอุปกรณ์จะตรวจหาปรอท สารหนู และแคดเมียมในน้ำประปาได้ด้วย Rao อาจประดิษฐ์เครื่องมือราคาไม่แพงที่ตรวจพบสารพิษได้หลายประเภทได้อย่างแม่นยำ
Ruiz เชื่อว่าความรู้เรื่องเทคโนโลยีอันล้ำสมัยและความอยากรู้อยากเห็นอย่างไม่เกรงกลัวใครของ Rao จุดประกายให้เรากล้าทำสิ่งที่ท้าทาย
Rao คิดว่าการสร้างการรับรู้เป็นเพียงขั้นตอนแรกของการแก้ไขวิกฤตน้ำในเมืองฟลินท์ เธอกล่าวว่า "ฉันหวังว่าอุปกรณ์ที่ตรวจพบสารตะกั่วได้ที่สร้างขึ้นมานั้นจะเริ่มพาเราไปสู่หนทางในการแก้ปัญหานี้" และก้าวต่อไปสำหรับเธอคือการรวบรวมข้อมูลจาก Tethys และแหล่งข้อมูลอื่นๆ มาไว้ในฐานข้อมูลที่โปร่งใสเพียงแห่งเดียว
โชคดีจริงๆ ที่มีผู้หญิงคนหนึ่งกำลังพัฒนาฐานข้อมูลแบบนั้นอยู่พอดี
ข้อมูลขนาดใหญ่ช่วยให้เราไม่ต้องเผชิญกับวิกฤตน้ำแบบเมืองฟลินท์อีกได้อย่างไร
ระหว่างที่ค้นหาโอกาสทางธุรกิจในสายคุณภาพของน้ำ Doll Avant ก็ได้พบว่าพ่อของเธอเป็นโรคเบาหวาน ซึ่งน่าตกใจมาก เพราะพ่อเป็นคนที่รักษาสุขภาพและเพิ่งเกษียณมาได้ไม่นาน ยิ่งเธอลงลึกเกี่ยวกับงานวิจัยเรื่องน้ำ รวมถึงเข้าร่วมวิจัยที่ NASA Research Park ที่ปรึกษาผู้ประสบความสำเร็จอย่าง Avant ก็อดสงสัยไม่ได้ว่ามีบางอย่างอยู่ในน้ำที่พ่อของเธอดื่ม
เมื่ออาการของพ่อทรุดลง เธอค้นพบงานวิจัยที่คลุมเครือซึ่งเสนอความเชื่อมโยงระหว่างสารหนูกับโรคเบาหวาน น้ำที่พ่อดื่มอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เขาป่วย เธอกล่าวว่า "ฉันไปค้นหารายงานเรื่องคุณภาพของน้ำในท้องถิ่นและทุกอย่างก็กระจ่างขึ้นมาเลย แต่ตอนนั้นพ่อป่วยมากแล้ว มันสายไปแล้วถ้าเราจะช่วยอะไรเขาตอนนี้"
งานวิจัยของเธอเริ่มต้นขึ้นเพราะเธออยากป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตน้ำปนเปื้อนแบบที่เมืองฟลินท์อีก แต่ตอนนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นกลับส่งผลต่อคนในครอบครัวของเธอโดยตรง
การเสียชีวิตของพ่อผลักดันให้ Avant ขุดข้อมูลทุกอย่างที่จะหาได้ ไม่ว่าจะรายงานของสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ บทความข่าว หรืองานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และเธอก็ตกใจมากเมื่อได้พบว่ามีชุมชนถึง 3,000 ชุมชนที่มีระดับสารตะกั่วในน้ำสูงกว่าเมืองฟลินท์เสียอีก มีการฝ่าฝืนข้อกำหนดของสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ มากมายที่ไม่เคยเปิดเผยมาก่อน มีสารก่อมะเร็งหลายพันรายการที่ไม่ผ่านการควบคุมโดยสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ
Avant ตระหนักได้ว่าผู้คนหลายล้านคนไม่ทราบเลยด้วยซ้ำว่าตนกำลังตกอยู่ในอันตรายจากได้รับสารพิษที่อยู่ในน้ำ เธอบอกว่า "พวกเขาไม่ได้ระมัดระวังเพราะไม่ทราบถึงข้อมูลเหล่านี้" เธอเลยก่อตั้งบริษัท Aquagenuity ขึ้นมาเพื่อสร้างฐานข้อมูลเกี่ยวกับน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก
เราควรจัดการน้ำในแบบเดียวกับการจัดการเงิน เงินเป็นสินทรัพย์มูลค่าสูงที่มีจำกัด เราเลยมีเครื่องมือทันสมัยมากมายไว้จัดการ และเราต้องใช้เครื่องมือที่ทันสมัยไม่แพ้กันมาจัดการน้ำ
Doll Avant
นอกเหนือจากการเปิดเผยข้อมูลที่เคยติดอยู่ในรายงานที่คลุมเครือแล้ว Aquagenuity ยังมีความตั้งใจที่จะให้คำแนะนำแก่ผู้บริโภคหากพบน้ำที่ปนเปื้อน
Avant กล่าวว่า "เพียงคุณใส่ที่อยู่ที่เคยอาศัยอยู่ทั้งหมดและระยะเวลาที่อยู่ในแต่ละที่ ระบบก็จะบอกวิธีล้างสารพิษในร่างกาย และบอกประเภทของโลหะและสารเคมีต่างๆ ที่สะสมอยู่ในระบบของคุณ"
การใช้ Google Cloud เพื่อปกป้องข้อมูลเป็นส่วนสำคัญต่อความสำเร็จ ตลอดจนการนำแมชชีนเลิร์นนิงมาใช้ในการให้ข้อมูลด้านสุขภาพที่ปรับให้เข้ากับผู้ใช้แต่ละราย
"เพียงคุณใส่ที่อยู่ที่เคยอาศัยอยู่ทั้งหมดและระยะเวลาที่อยู่ในแต่ละที่ ระบบก็จะบอกวิธีล้างสารพิษในร่างกาย และบอกประเภทของโลหะและสารเคมีต่างๆ ที่สะสมอยู่ในระบบของคุณ"
Doll Avant
Aquagenuity ยังมีแผนที่จะช่วยหาการดำเนินการสำหรับธุรกิจและรัฐบาลด้วย โรงงานบรรจุขวดใหม่จะทราบได้อย่างรวดเร็วว่าจะต้องใช้ตัวกรองประเภทใด หรือรัฐบาลท้องถิ่นจะทราบว่าตัวกรองในเบื้องหลังประเภทใดที่เหมาะสมที่สุดสำหรับขั้นตอนการผลิตที่ต้องการ Avant กล่าวว่า "เรากำลังสอนให้ระบบคิดหาคำแนะนำเหล่านี้ได้ทันที เฟรมเวิร์กแมชชีนเลิร์นนิงที่อยู่ใน Google Cloud จะช่วยให้เราทำงานได้รวดเร็วขึ้นอย่างมาก"
ศตวรรษที่ 20 เป็นช่วงเวลาที่โหดร้ายสำหรับโลกใบนี้ เราควรเปลี่ยนวิธีที่เราใช้น้ำเป็นทรัพยากรและปรับปรุงทุกอย่างให้ดีขึ้นในศตวรรษที่ 21 นี้
Doll Avant