พบกับชายผู้มีภารกิจในการทำอากาศของแอฟริกาให้สะอาดด้วย AI
"ผมค่อนข้างหมกมุ่นกับเรื่องอากาศครับ" เอนจิเนียร์ ไบโนมูกิชา พูดขณะที่กำลังยึดกล่องเล็กๆ สีดำเข้ากับท้ายรถจักรยานยนต์รับจ้างในกัมปาลา เมืองหลวงอันแสนจอแจของยูกันดา ถ้าคนปกติมอง นี่คงมองเหมือนกล่องธรรมดาๆ แต่อุปกรณ์ชิ้นนี้มีไว้ใช้จัดการกับระดับมลภาวะที่เป็นอันตรายบนท้องถนนของเมืองกัมปาลา เมื่อผสานเข้ากับ AI อุปกรณ์นี้ก็มีศักยภาพในการยกระดับชีวิตและคุณภาพอากาศสำหรับผู้คนหลายล้านคนทั่วยูกันดาให้ดีขึ้นได้
ด้วยความที่โตมาในย่านชนบทของยูกันดา เอนจิเนียร์ได้สัมผัสกับมลภาวะที่กัมปาลาต้องเผชิญเป็นครั้งแรกเมื่อเขาต้องเดินทาง 300 กม. จากบ้านของตัวเองไปศึกษาด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัยมาเคอเรอรีในเมืองหลวงของประเทศ เขามีความหลงใหลในเรื่องเทคโนโลยีมาแต่ไหนแต่ไร และมักตื่นแต่เช้าตรู่มาฝึกเขียนซอฟต์แวร์ในห้องแล็ปของมหาวิทยาลัยที่มีคอมพิวเตอร์เพียงไม่กี่เครื่อง เขาไม่ได้เฉลียวใจเลยว่าวันหนึ่งจะได้ใช้วิชาความรู้ที่ร่ำเรียนมาช่วยเหลือผู้คนให้ป้องกันตัวเองจากมลภาวะในกัมปาลาและที่อื่นๆ ได้ดีขึ้น
ตอนนี้เอนจิเนียร์เป็นหัวหน้าภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัยเดียวกันนี้ และเป็นหัวหน้าทีมโครงการ AirQo ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มที่ผสมผสานความเฉลียวฉลาดของมนุษย์ กับแบบจำลอง AI และกล่องที่อัดแน่นไปด้วยเทคโนโลยีด้านการตรวจวัดอากาศเข้าด้วยกันเพื่อคาดการณ์ถึงรูปแบบของมลภาวะในเมืองกัมปาลา
เอนจิเนียร์และทีมนักศึกษาผู้ทุ่มเทช่วยกันติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจวัดอากาศไว้บนหลังคาตึก และบนท้ายรถจักรยานยนต์รับจ้างที่รู้จักกันในชื่อโบดาโบดา ซึ่งเป็นการเดินทางที่ได้รับความนิยมมากที่สุดอย่างหนึ่งของเมืองนี้ เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลมลภาวะจากทั่วทั้งเมือง ทีมงานใช้ซอฟต์แวร์ AI ในระบบคลาวด์เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลอนุภาคอากาศแบบเรียลไทม์และคาดการณ์ถึงมลภาวะในพื้นที่ การพยากรณ์เหล่านี้ทำให้ชุมชนของกัมปาลามีวิธีลดความเสี่ยงในการสัมผัสมลพิษ และหน่วยงานรัฐบาลกำลังนำข้อมูลนี้ไปใช้ปรับปรุงคุณภาพอากาศภาคพื้นดิน
เอนจิเนียร์และทีมงานที่มหาวิทยาลัยมาเคอเรอรีเป็นหนึ่งใน 20 องค์กรที่ได้รับเลือกจากผู้สมัครกว่า 2,600 ราย ในการรับงบประมาณสนับสนุนผ่าน Google AI Impact Challenge ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มของ Google.org ในการช่วยเหลือองค์กรการกุศล สตาร์ทอัพ และนักวิจัยให้ใช้พลังของ AI แก้ไขปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อม และในการเข้าร่วมโปรแกรมนี้ ทีมมาเคอเรอรีก็ยังได้รับการฝึกสอนและคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญของ Google และ DeepMind AI ตลอดหลักสูตรเร่งรัดด้าน AI เป็นเวลา 9 เดือนเต็ม
ในขณะที่เครือข่ายของเซ็นเซอร์ตรวจวัดอากาศกำลังซอกแซกไปทั่วเมืองกัมปาลาบนท้ายรถโบดาโบดานั้น เอนจิเนียร์ก็หวังว่าสักวัน เทคโนโลยีนี้จะลดมลภาวะบนท้องถนนทั่วทั้งทวีปลงได้ เพื่อให้คนรุ่นต่อๆ ไปได้รู้ว่าการสูดอากาศบริสุทธิ์เข้าปอดนั้นเป็นอย่างไร