ข้ามไปที่เนื้อหา

หญิงแกร่งสู้วิกฤตน้ำ

วิธีที่ผู้หญิง 6 คนออกมาเคลื่อนไหวและใช้เทคโนโลยีเพื่อฝ่าวิกฤตน้ำปนเปื้อน

ใช้เวลาอ่าน 10 นาที

ภาพถ่ายของ Mari Copeny

รัฐบาลไม่ยอมฟังผู้ใหญ่ ส่วนผู้ใหญ่เองก็ไม่ฟังรัฐบาล ฉันก็เลยคิดว่าทั้งคู่อาจจะหันมาฟังเด็กอย่างฉันก็ได้

Mari Copeny

ภาพถ่ายของ Mikayla Sharrieff, India Skinner และ Bria Snell

เรารู้ว่าน้ำดื่มที่โรงเรียนคุณภาพไม่ดีเพราะมีการวัดค่าสารตะกั่วในน้ำทุกปี ปัญหาน้ำนี่แหละเป็นเรื่องที่เราอยากแก้ไข

India Skinner

ภาพถ่ายของ Doll Avant

คุณจะทำอย่างไรถ้าผู้คนไม่รู้ว่ามีชุมชน 3,000 แห่งในสหรัฐอเมริกาที่มีระดับสารตะกั่วในน้ำมากกว่าที่เมืองฟลินท์ รัฐมิชิแกนเสียอีก

Doll Avant

ภาพถ่ายของ Gitanjali Rao

ฉันคิดว่าการเป็นวิทยาศาสตร์ก็เหมือนได้เป็นซุปเปอร์ฮีโร่เลยแหละ เพราะซุปเปอร์ฮีโร่ช่วยชีวิตคนและต้องการทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์สูงสุดของสังคม นักวิทยาศาสตร์ก็ไม่ต่างกัน

Gitanjali Rao

ตอนที่โรคไวรัสซิการะบาด Gitanjali Rao ซึ่งปัจจุบันอายุ 13 ปี พยายามหาวิธีใหม่ในการปรับแต่งยีนที่จะช่วยยับยั้งการระบาดของโรคดังกล่าว

เมื่อครั้งที่ Malaysia Airlines เที่ยวบิน 370 หายไปจากมหาสมุทรอินเดีย เธอหาวิธีประดิษฐ์กล่องดำที่ดีกว่าเดิม

และเมื่อทราบว่าคนที่โรงเรียนถูกกลั่นแกล้งในโซเชียลมีเดีย เธอก็สร้างแอปที่ตรวจหาและสอดส่องข้อความกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์

ถ้า Rao รู้ว่ามีปัญหาอะไรอยู่ข้างหน้า เธอก็จะพยายามแก้ไขให้ได้

คนส่วนใหญ่คิดว่าฉันเป็นเด็กอายุ 11 ปีที่มีไอเดียง่ายๆ ไว้จัดแสดงในงานวิทยาศาสตร์ แต่ถ้าฉันพัฒนาอุปกรณ์นี้ให้ใช้งานได้จริง ก็ช่วยคนในเมืองฟลินท์ได้เยอะมาก

Gitanjali Rao

Rao เป็นนักกิจกรรมตัวยง เธอร่วมทำโครงการกับ STEM Scouts of America เป็นพิธีกรร่วมให้รายการวิทยาศาสตร์ในสถานีวิทยุสาธารณะ และยังเขียนบทละครอีกด้วย แต่สิ่งที่ทำให้เด็กคนนี้แตกต่างจากเด็กอื่นๆ ก็คือความปรารถนาที่จะช่วยเหลือผู้คน เธอเล่าว่า "ฉันชอบช่วยคนอื่นอยู่ตลอดเลยค่ะ จะล้างจานตอนเย็นที่บ้านหรือไปเล่นเปียโนที่โรงพยาบาลก็ได้ ฉันอยากสร้างการเปลี่ยนแปลงในโลกที่เปลี่ยนชีวิตผู้คนได้"

Gitanjali Rao กำลังทำงานในห้องทดลองร่วมกับ Selene Hernandez Ruiz นักวิทยาศาสตร์

เมื่อตอนที่นักเคลื่อนไหวทางสังคมในเมืองฟลินท์ รัฐมิชิแกน ได้ทำให้โลกหันมาสนใจวิกฤตน้ำปนเปื้อนของเมือง Rao ก็ได้จุดประกายความคิดที่จะสร้างเครื่องมือโดยใช้เทคโนโลยี Android ที่จะช่วยเหลือคนได้หลายล้านคน โดยหารู้ไม่ว่าเธอจะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวครั้งยิ่งใหญ่ที่เกิดขึ้นจากเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่อยากรวมพลังคนที่ช่วยได้

Mari Copeny
นักเคลื่อนไหว

พบกับผู้จุดประกายที่ปลุกใจคนทั้งชาติ

ณ การชุมนุมที่เมืองฟลินท์เมื่อปีก่อน ผู้จัดงานได้เชิญให้ Amariyanna “Mari” Copeny ขึ้นพูดบนเวทีร่วมกับ Janelle Monáe และ Stevie Wonder และ Little Miss Flint ได้รับเสียงเชียร์จากแฟนๆ ในบ้านเกิด

Copeny ในวัย 11 รักการอยู่ท่ามกลางฝูงชน แต่สิ่งที่ทำให้เธอพิเศษกว่าใครคือความสำนึกในหน้าที่อย่างเหลือล้นของเธอ หลังจากที่ชนะการประกวดเวทีนางงาม Little Miss Flint ในปี 2015 เธอใช้ตำแหน่งที่ได้รับเพื่อเริ่มบทสนทนาระหว่างเด็กๆ กับตำรวจในเมืองฟลินท์

และเมื่อคุณภาพน้ำในเมืองฟลินท์เริ่มแย่ลง การอาบน้ำนานๆ ก็ทำให้ผิวของ Copeny ระคายเคือง น้องๆ ของเธอเองก็เป็นผื่นแดง เธอรู้ว่าถึงเวลาต้องทำอะไรสักอย่าง น้ำที่มีฤทธิ์กัดเนื้อเยื่อนี้เกิดจากท่อเหล็กที่สึกกร่อนและสารตะกั่วที่ซึมออกจากท่อเก่าๆ ในบ้านและอาคารในท้องถิ่น แต่คนในชุมชนยังไม่รู้เรื่องนี้เลย ณ ตอนนั้น เมืองฟลินท์เต็มไปด้วยข้อมูลที่ไม่ตรงตามความจริงและความสับสน Little Miss Flint รู้ว่าถึงเวลาแล้วที่เธอต้องออกมาเป็นกระบอกเสียงให้ชุมชน

สารเคมีอันตราย
วิกฤตในเมืองฟลินท์ รัฐมิชิแกน
เมืองฟลินท์เป็นเมืองทางตะวันตกเฉียงเหนือของดีทรอยต์ที่มีประชากรกว่า 100,000 คน ในเดือนเมษายน 2014 เมืองได้เปลี่ยนแหล่งน้ำจากทะเลสาบเกรตเลกส์ไปใช้แม่น้ำฟลินท์ที่อยู่ใกล้ๆ เมือง แต่ท่อน้ำไม่ได้พร้อมรองรับการเปลี่ยนจากน้ำจืดในทะเลสาบไปเป็นน้ำในแม่น้ำ ซึ่งมีสารเคมีปนเปื้อนอยู่
เลื่อนเพื่ออ่านเพิ่ม
แม่น้ำฟลินท์

การเปลี่ยนแหล่งน้ำไปเป็นแม่น้ำฟลินท์เป็นเพียงมาตรการชั่วคราว เนื่องจากเมืองอยู่ระหว่างการรอเข้าร่วมระบบน้ำใหม่ประจำภูมิภาค โชคไม่ดีที่น้ำในแม่น้ำมักเป็นน้ำที่บำบัดยากที่สุดชนิดหนึ่ง การจัดการน้ำในแม่น้ำนำมาซึ่งปัญหามากมายเพราะน้ำมีคลอไรด์ที่มีฤทธิ์กัดกร่อนอยู่มากโดยธรรมชาติ แม้ว่าความเป็นกรดสูงของน้ำจะไม่ได้เป็นอันตราย แต่สิ่งที่เป็นอันตรายคือปฏิกิริยาเคมีที่เกิดขึ้นระหว่างน้ำใหม่กับท่อน้ำเก่า

รายละเอียดการกัดกร่อนของท่อน้ำ

ทะเลสาบฮูรอนซึ่งเป็นแหล่งน้ำเดิมของเมืองมีค่า pH ที่สมดุลกว่า ทำให้มีแร่ตกค้างในท่อเก่า แต่ความเป็นกรดของน้ำในแม่น้ำฟลินท์ทำให้สารที่เคลือบท่อน้ำหายไป ซึ่งทำให้สารตะกั่วแทรกซึมไปในน้ำดื่ม ที่แย่กว่านั้นคือเมืองฟลินท์เป็นเพียงหนึ่งในหลายพันชุมชนในสหรัฐอเมริกาที่ได้รับผลกระทบจากน้ำที่ปนเปื้อนสารตะกั่ว

การแจกน้ำดื่มบรรจุขวดในที่จอดรถ ณ เมืองฟลินท์ รัฐมิชิแกน
อาสาสมัครแจกน้ำดื่มบรรจุขวดที่เมืองฟลินท์ มิชิแกน

เมื่อต้นปี 2016 มีเพื่อนใหม่มาเยี่ยม Little Miss Flint เขาคนนั้นคือประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา เธอเขียนจดหมายถึงประธานาธิบดีโอบามา เพื่อขอเข้าเยี่ยมตอนที่เธอไปวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อเข้าฟังประชาพิจารณ์โดยรัฐสภาสหรัฐเกี่ยวกับวิกฤตน้ำปนเปื้อนในเมืองฟลินท์ แต่โอบากลับมาพบเธอที่เมืองฟลินท์แทน และนั่นทำให้ทั้งประเทศหันมาสนใจเมืองนี้

ฉันเป็นเด็กคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากน้ำปนเปื้อนและพยายามเดินประท้วงและเป็นกระบอกเสียงให้แก่เด็กๆ ที่อาศัยอยู่ในเมืองฟลินท์

Mari Copeny

ใน 1 ปีข้างหน้า Little Miss Flint จะปรากฏอยู่ใน Teen Vogue และ Time for Kids รวมถึงในการชุมนุมด้วย การเคลื่อนไหวของเด็กหญิงผู้ชนะเวทีนางงามมักคำนึงถึงเด็กๆ ในเมืองฟลินท์เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการระดมเงินบริจาคเพื่อซื้อตั๋วชมภาพยนตร์เรื่อง Black Panther หรือการรับบริจาคอุปกรณ์การเรียนการสอนในโรงเรียนเพื่อให้ครอบครัวได้มีเงินเหลือไว้ซื้อเครื่องกรองน้ำสำหรับก๊อกน้ำในบ้าน

Copeny กล่าวว่า "ฉันเลิกประกวดนางงามแล้วค่ะ ฉันหันมาเป็นกระบอกเสียงให้คนในชุมชนแทน"

การรณรงค์ของ Little Miss Flint โด่งดังไปทั่วประเทศ ผู้คนเริ่มมองหาวิธีแก้ปัญหาในระยะยาว ซึ่งรวมถึงวิศวกรรุ่นเยาว์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเทคโนโลยีของ NASA เพื่อสร้างที่กรองน้ำแบบใสที่คุณเห็นกระบวนการกรองได้

Mikayla Sharrieff, India Skinner และ Bria Snell
วิศวกร

S3 Trio จากวอชิงตัน ดี.ซี. ทำงานร่วมกับ NASA เพื่อนำสารตะกั่วออกจากน้ำ

กลุ่มเพื่อนซี้ Mikayla Sharrieff, India Skinner และ Bria Snell ตัดสินใจว่าจะไปทำงานบริการชุมชนเป็นระยะเวลา 270 ชั่วโมงเพื่อจบหลักสูตรมัธยมศึกษาที่ศูนย์เพื่อชุมชนชื่อว่า Inclusive Innovation Incubator (In3) ศูนย์เพื่อชุมชนแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเพื่อให้ผู้สนใจอยากทำธุรกิจในวอชิงตัน ดี.ซี. ได้เรียนรู้การเขียนโค้ด พัฒนาทักษะทางสังคม และสร้างเครือข่าย พวกเธอรู้เลยว่าที่นี่เหมาะกับตนเป็นอย่างยิ่ง

Marissa Jennings ที่ปรึกษาของสาวๆ ที่ In3 แนะนำว่าพวกเธอควรเข้าร่วมการแข่งขันของ NASA ที่ชื่อว่า Optimus Prime Spinoff Promotion and Research Challenge (OPSPARC) สาวๆ ซึ่งเป็นนักเรียนม.6 ก็ตื่นเต้นมากที่จะสร้างผลงานที่แตกหน่อมาจากเทคโนโลยีของ NASA ที่มีอยู่แล้ว

และพวกเธอกลับมาที่ประเด็นเรื่องน้ำอีกครั้ง เมื่อไม่นานมานี้ โรงเรียนห้ามไม่ให้นักเรียนดื่มน้ำจากก๊อกน้ำดื่มและเอาถุงขยะมาครอบอ่างเอาไว้หลังจากที่งานก่อสร้างทำให้น้ำในโรงเรียนปนเปื้อน เมื่อเมืองฟลินท์และโรงเรียนใกล้ๆ ในบอลทิมอร์เริ่มแจกน้ำดื่มบรรจุขวด อ่างน้ำดื่มที่ปิดไปดูเหมือนจะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่ใหญ่กว่า

สาวๆ ได้แรงบันดาลใจจากเทคโนโลยีการกรองน้ำจากโครงการ Apollo ของ NASA และสงสัยว่านักบินอวกาศรักษาระดับน้ำในร่างกายด้วยการดื่มปัสสาวะที่นำมารีไซเคิลได้อย่างไร แต่อ่างน้ำดื่มที่โรงเรียนปนเปื้อนสารพิษ

"เรารู้ว่ามีที่กรองน้ำที่นำมาใช้ได้ แล้วทำไมน้ำเรายังไม่สะอาดล่ะ"

India Skinner

สาวๆ นึกถึงดีไซน์ที่โปร่งใสที่จะช่วยให้เรามองเห็นการกรองที่มีประสิทธิภาพ ใครๆ ต่างก็กังขาในคุณภาพของน้ำ โดยเมืองในสหรัฐอเมริกาถึง 3,000 เมืองมีระดับสารตะกั่วในน้ำดื่มมากกว่าเมืองฟลินท์เสียอีก แต่การทดสอบคุณภาพน้ำกลับไม่แพร่หลาย ด้วยเหตุนี้ผู้คนจึงจำเป็นต้องเห็นการทำงานของเครื่องกรอง Skinner กล่าวว่า "ชุมชนควรมีน้ำสะอาดไว้ดื่มไว้ใช้ เราจึงตัดสินใจสร้างเครื่องกรองที่คุณสามารถเห็นน้ำที่กำลังกรองอยู่จริงๆ"

เครื่องกรองต้นแบบใช้พัดลมอันเล็กๆ เพื่อผลักสารพิษผ่านเครื่องกรอง เพื่อแสดงให้เห็นว่าน้ำสะอาดจริงๆ แถบการทดสอบค่า pH ในหลอดใสจะแสดงระดับ pH ที่เป็นกลาง

S3 Trio (ชื่อกลุ่มของเด็กสาวทั้งสาม) ได้รางวัลที่ 2 โดยรวมและชนะรางวัลที่ Goddard Space Flight Center ของ NASA ซึ่งพวกเธอได้พบกับสมาชิกของ National Society of Black Engineers เพื่อสานต่อโครงการนี้ แต่สำหรับพวกเธอแล้ว รางวัลที่ดีที่สุดคือการได้สร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนอื่น

คนในชุมชนที่สนใจเรื่องสะเต็มศึกษาก็จะเห็นพวกเราเอง เราก็เหมือนเด็กม. ปลายทั่วๆ ไปนะคะ

Mikayla Sharrieff

หลังจากที่ Little Miss Flint เป็นกระบอกเสียงให้แก่เด็กๆ ในชุมชน S3 Trio ก็ตอบรับด้วยการเข้ามาช่วยเหลือด้วยเช่นกัน และเด็กสาวจากรัฐโคโลราโดก็มาพร้อมกับเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ซอฟต์แวร์ Android และ Buckypaper เพื่อช่วยให้ผู้คนทดสอบสารเคมีที่อยู่ในน้ำที่บ้านของตนเองได้

Gitanjali Rao
นักประดิษฐ์

วิธีที่เด็กผู้หญิงคนหนึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าไม่มีปัญหาใดใหญ่เกินแก้

เมื่อ Gitanjali Rao เริ่มระดมความคิดว่าเธอจะช่วยแก้ไขวิกฤตน้ำในเมืองฟลินท์ได้อย่างไร เธอคิดว่าจะต้องหาวิธีกำจัดสารตะกั่วออกไปจากน้ำให้ได้ เธอบอกว่า "มันคลัายกับการแก้ปัญหาโลกร้อนโดยใช้วิธีเพียงวิธีเดียว ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย"

เมื่อเกิดวิกฤตในเมืองฟลินท์ ครอบครัวของ Rao รวมถึงครอบครัวอื่นๆ ในประเทศก็ทดสอบน้ำของตนเอง ความยุ่งยากในการทดสอบทำให้ Rao ประหลาดใจมาก นอกจากการทดสอบจะมีราคาแพงแล้วยังใช้เวลานานถึง 2 สัปดาห์อีกด้วย สำหรับ Rao เรื่องที่น่ากลัวที่สุดเรื่องหนึ่งของวิกฤตน้ำปนเปื้อนในฟลินท์คือการไม่ทราบว่าน้ำปลอดภัยหรือไม่ Rao พบว่าแค่การสามารถทดสอบน้ำได้ก็น่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมากแล้ว

Rao มักจะอ่านหน้าเว็บของ Massachusetts Institute of Technology เกี่ยวกับวัสดุศาสตร์ และเธอก็พบบางอย่างที่น่าจะช่วยเมืองฟลินท์ได้

ฉันพบเทคโนโลยีใหม่ที่ใช้เซ็นเซอร์ท่อนาโนคาร์บอนในการตรวจหาก๊าซอันตรายในอากาศ ฉันเลยย้อนกลับมาคิดเรื่องการตรวจหาตะกั่ว...ในน้ำดื่ม

Gitanjali Rao

Rao คิดว่าในเชิงทฤษฎี การใช้ท่อนาโนคาร์บอนประเภทหนึ่งที่เรียกว่า "Buckypaper" จะเป็นวัสดุที่สมบูรณ์แบบสำหรับแผ่นทดสอบน้ำ เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมากที่ได้รู้ว่าเธอค้นพบบางสิ่งที่ไม่เคยมีใครลองทำมาก่อน แต่เธอจะต้องสร้างเครื่องมือมาทดสอบก่อน ยังมีงานที่ต้องทำอีกมากทีเดียว

การไปเยี่ยมชมแหล่งเก็บน้ำท้องถิ่นในเดนเวอร์ทำให้ Rao ได้รู้จักกับ Selene Hernandez Ruiz ผู้จัดการห้องทดลอง โดย Ruiz รู้สึกทึ่งที่ Rao มีความเข้าใจเรื่องอุทกวิทยาระดับเดียวกับด็อกเตอร์เลยทีเดียว ยิ่งฟังเด็กคนนี้พูด Ruiz ตระหนักได้ว่าเธอไม่ได้กำลังฟังแค่ไอเดียที่ยอดเยี่ยม แต่กำลังพูดคุยอยู่กับบุคคลที่มีความพิเศษ Ruiz เล่าว่า "Gitanjali…วางตัวเหมือนผู้ใหญ่คนหนึ่งเลย ทั้งในแง่การพูดจาและความรู้ด้านวิทยาศาสตร์" หลังจากนั้นไม่นานเธอก็มาช่วย Rao ทดสอบอุปกรณ์ที่เธอใช้ชื่อว่า Tethys

ตอนที่รู้ว่าฉันได้พื้นที่ในห้องทดลอง ฉันเก็บความดีใจเอาไว้ข้างในก่อน แต่พอกลับถึงบ้านก็กรี๊ดลั่นเลย วันนั้นเป็นหนึ่งในวันที่ดีที่สุดในชีวิตเลยจริงๆ นะ

Gitanjali Rao

เมื่อ Rao และ Ruiz ได้ทำงานร่วมกัน มิตรภาพที่ก่อเกิดขึ้นมีแต่จะทำให้ Tethys ใกล้ความเป็นจริงมากขึ้น ผลการทดสอบล่าสุดแสดงว่าอุปกรณ์ตรวจพบโลหะประเภทอื่นๆ จึงมีความเป็นไปได้ว่าอุปกรณ์จะตรวจหาปรอท สารหนู และแคดเมียมในน้ำประปาได้ด้วย Rao อาจประดิษฐ์เครื่องมือราคาไม่แพงที่ตรวจพบสารพิษได้หลายประเภทได้อย่างแม่นยำ

Ruiz เชื่อว่าความรู้เรื่องเทคโนโลยีอันล้ำสมัยและความอยากรู้อยากเห็นอย่างไม่เกรงกลัวใครของ Rao จุดประกายให้เรากล้าทำสิ่งที่ท้าทาย

Rao คิดว่าการสร้างการรับรู้เป็นเพียงขั้นตอนแรกของการแก้ไขวิกฤตน้ำในเมืองฟลินท์ เธอกล่าวว่า "ฉันหวังว่าอุปกรณ์ที่ตรวจพบสารตะกั่วได้ที่สร้างขึ้นมานั้นจะเริ่มพาเราไปสู่หนทางในการแก้ปัญหานี้" และก้าวต่อไปสำหรับเธอคือการรวบรวมข้อมูลจาก Tethys และแหล่งข้อมูลอื่นๆ มาไว้ในฐานข้อมูลที่โปร่งใสเพียงแห่งเดียว

โชคดีจริงๆ ที่มีผู้หญิงคนหนึ่งกำลังพัฒนาฐานข้อมูลแบบนั้นอยู่พอดี

Doll Avant
นักธุรกิจ

ข้อมูลขนาดใหญ่ช่วยให้เราไม่ต้องเผชิญกับวิกฤตน้ำแบบเมืองฟลินท์อีกได้อย่างไร

ระหว่างที่ค้นหาโอกาสทางธุรกิจในสายคุณภาพของน้ำ Doll Avant ก็ได้พบว่าพ่อของเธอเป็นโรคเบาหวาน ซึ่งน่าตกใจมาก เพราะพ่อเป็นคนที่รักษาสุขภาพและเพิ่งเกษียณมาได้ไม่นาน ยิ่งเธอลงลึกเกี่ยวกับงานวิจัยเรื่องน้ำ รวมถึงเข้าร่วมวิจัยที่ NASA Research Park ที่ปรึกษาผู้ประสบความสำเร็จอย่าง Avant ก็อดสงสัยไม่ได้ว่ามีบางอย่างอยู่ในน้ำที่พ่อของเธอดื่ม

เมื่ออาการของพ่อทรุดลง เธอค้นพบงานวิจัยที่คลุมเครือซึ่งเสนอความเชื่อมโยงระหว่างสารหนูกับโรคเบาหวาน น้ำที่พ่อดื่มอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เขาป่วย เธอกล่าวว่า "ฉันไปค้นหารายงานเรื่องคุณภาพของน้ำในท้องถิ่นและทุกอย่างก็กระจ่างขึ้นมาเลย แต่ตอนนั้นพ่อป่วยมากแล้ว มันสายไปแล้วถ้าเราจะช่วยอะไรเขาตอนนี้"

งานวิจัยของเธอเริ่มต้นขึ้นเพราะเธออยากป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตน้ำปนเปื้อนแบบที่เมืองฟลินท์อีก แต่ตอนนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นกลับส่งผลต่อคนในครอบครัวของเธอโดยตรง

Doll Avant และพ่อของเธอ

การเสียชีวิตของพ่อผลักดันให้ Avant ขุดข้อมูลทุกอย่างที่จะหาได้ ไม่ว่าจะรายงานของสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ บทความข่าว หรืองานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และเธอก็ตกใจมากเมื่อได้พบว่ามีชุมชนถึง 3,000 ชุมชนที่มีระดับสารตะกั่วในน้ำสูงกว่าเมืองฟลินท์เสียอีก มีการฝ่าฝืนข้อกำหนดของสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ มากมายที่ไม่เคยเปิดเผยมาก่อน มีสารก่อมะเร็งหลายพันรายการที่ไม่ผ่านการควบคุมโดยสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ

Avant ตระหนักได้ว่าผู้คนหลายล้านคนไม่ทราบเลยด้วยซ้ำว่าตนกำลังตกอยู่ในอันตรายจากได้รับสารพิษที่อยู่ในน้ำ เธอบอกว่า "พวกเขาไม่ได้ระมัดระวังเพราะไม่ทราบถึงข้อมูลเหล่านี้" เธอเลยก่อตั้งบริษัท Aquagenuity ขึ้นมาเพื่อสร้างฐานข้อมูลเกี่ยวกับน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก

เราควรจัดการน้ำในแบบเดียวกับการจัดการเงิน เงินเป็นสินทรัพย์มูลค่าสูงที่มีจำกัด เราเลยมีเครื่องมือทันสมัยมากมายไว้จัดการ และเราต้องใช้เครื่องมือที่ทันสมัยไม่แพ้กันมาจัดการน้ำ

Doll Avant

นอกเหนือจากการเปิดเผยข้อมูลที่เคยติดอยู่ในรายงานที่คลุมเครือแล้ว Aquagenuity ยังมีความตั้งใจที่จะให้คำแนะนำแก่ผู้บริโภคหากพบน้ำที่ปนเปื้อน

Avant กล่าวว่า "เพียงคุณใส่ที่อยู่ที่เคยอาศัยอยู่ทั้งหมดและระยะเวลาที่อยู่ในแต่ละที่ ระบบก็จะบอกวิธีล้างสารพิษในร่างกาย และบอกประเภทของโลหะและสารเคมีต่างๆ ที่สะสมอยู่ในระบบของคุณ"

การใช้ Google Cloud เพื่อปกป้องข้อมูลเป็นส่วนสำคัญต่อความสำเร็จ ตลอดจนการนำแมชชีนเลิร์นนิงมาใช้ในการให้ข้อมูลด้านสุขภาพที่ปรับให้เข้ากับผู้ใช้แต่ละราย

"เพียงคุณใส่ที่อยู่ที่เคยอาศัยอยู่ทั้งหมดและระยะเวลาที่อยู่ในแต่ละที่ ระบบก็จะบอกวิธีล้างสารพิษในร่างกาย และบอกประเภทของโลหะและสารเคมีต่างๆ ที่สะสมอยู่ในระบบของคุณ"

Doll Avant

Aquagenuity ยังมีแผนที่จะช่วยหาการดำเนินการสำหรับธุรกิจและรัฐบาลด้วย โรงงานบรรจุขวดใหม่จะทราบได้อย่างรวดเร็วว่าจะต้องใช้ตัวกรองประเภทใด หรือรัฐบาลท้องถิ่นจะทราบว่าตัวกรองในเบื้องหลังประเภทใดที่เหมาะสมที่สุดสำหรับขั้นตอนการผลิตที่ต้องการ Avant กล่าวว่า "เรากำลังสอนให้ระบบคิดหาคำแนะนำเหล่านี้ได้ทันที เฟรมเวิร์กแมชชีนเลิร์นนิงที่อยู่ใน Google Cloud จะช่วยให้เราทำงานได้รวดเร็วขึ้นอย่างมาก"

ศตวรรษที่ 20 เป็นช่วงเวลาที่โหดร้ายสำหรับโลกใบนี้ เราควรเปลี่ยนวิธีที่เราใช้น้ำเป็นทรัพยากรและปรับปรุงทุกอย่างให้ดีขึ้นในศตวรรษที่ 21 นี้

Doll Avant

กลุ่มผู้หญิงอยู่ร่วมกันในเมืองฟลินท์ รัฐมิชิแกน

สำหรับ Avant แล้ว Aquagenuity มีต้นกำเนิดมาจากความเชื่อว่าเราต้องทำสิ่งต่างๆ ให้แตกต่างออกไป แล้วอะไรกันที่ทำให้ Gitanjali Rao, Little Miss Flint และ S3 Trio แตกต่างจากคนอื่นๆ

พวกเธอไม่นั่งรอให้ใครอนุมัติ แต่เลือกที่จะออกไปค้นหาคำตอบ และเข้าไปมีส่วนร่วม

Avant กล่าวว่า "ฉันรู้สึกว่าไม่มีใครคิดถึงเรื่องพวกนี้ ก็เลยคิดว่า แล้วทำไมฉันไม่ลงมือทำเองเลยล่ะ"

ถ้าคุณอายุระหว่าง 13 ถึง 18 ปีและมีแนวคิดเกี่ยวกับวิธีช่วยแก้ปัญหาในชุมชนที่คุณอยู่โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ โปรดส่งไอเดียของคุณไปที่ Google Science Fair ที่นี่ และถ้ากำลังมองหาข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการเขียนโค้ด ลองดูโครงการ Made with Code ของ Google ได้ที่นี่

หญิงแกร่งสู้วิกฤตน้ำ:บทนำ

  • บทนำ

    บทนำ

  • บทที่ 1

    บทที่ 1: นักเคลื่อนไหว

  • บทที่ 2

    บทที่ 2: วิศวกร

  • บทที่ 3

    บทที่ 3: นักประดิษฐ์

  • บทที่ 4

    บทที่ 4: นักธุรกิจ

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

พบกับทีมที่ใช้แมชชีนเลิร์นนิงเพื่อช่วยกอบกู้เหล่าผึ้งตัวน้อยของโลก

พบกับทีมที่ใช้แมชชีนเลิร์นนิงเพื่อช่วยกอบกู้เหล่าผึ้งตัวน้อยของโลก

วิธีที่สมาร์ทโฟนอาจช่วยชีวิตคุณได้ในกรณีฉุกเฉิน

วิธีที่สมาร์ทโฟนอาจช่วยชีวิตคุณได้ในกรณีฉุกเฉิน

AI ช่วยแจ้งเตือนล่วงหน้าในสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างไร

AI ช่วยแจ้งเตือนล่วงหน้าในสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างไร

นักวิทยาศาสตร์และซูเปอร์คอมพิวเตอร์จะทำให้น้ำทะเลเป็นน้ำดื่มได้อย่างไร

นักวิทยาศาสตร์และซูเปอร์คอมพิวเตอร์จะทำให้น้ำทะเลเป็นน้ำดื่มได้อย่างไร

วิธีที่ Jason Barnes และคนอื่นๆ บุกเบิกเส้นทางไปสู่โลกที่เปิดกว้างมากขึ้น

วิธีที่ Jason Barnes และคนอื่นๆ บุกเบิกเส้นทางไปสู่โลกที่เปิดกว้างมากขึ้น

พบกับทีมที่ใช้แมชชีนเลิร์นนิงเพื่อช่วยกอบกู้เหล่าผึ้งตัวน้อยของโลก

พบกับทีมที่ใช้แมชชีนเลิร์นนิงเพื่อช่วยกอบกู้เหล่าผึ้งตัวน้อยของโลก

วิธีที่สมาร์ทโฟนอาจช่วยชีวิตคุณได้ในกรณีฉุกเฉิน

วิธีที่สมาร์ทโฟนอาจช่วยชีวิตคุณได้ในกรณีฉุกเฉิน

AI ช่วยแจ้งเตือนล่วงหน้าในสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างไร

AI ช่วยแจ้งเตือนล่วงหน้าในสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างไร

นักวิทยาศาสตร์และซูเปอร์คอมพิวเตอร์จะทำให้น้ำทะเลเป็นน้ำดื่มได้อย่างไร

นักวิทยาศาสตร์และซูเปอร์คอมพิวเตอร์จะทำให้น้ำทะเลเป็นน้ำดื่มได้อย่างไร

วิธีที่ Jason Barnes และคนอื่นๆ บุกเบิกเส้นทางไปสู่โลกที่เปิดกว้างมากขึ้น

วิธีที่ Jason Barnes และคนอื่นๆ บุกเบิกเส้นทางไปสู่โลกที่เปิดกว้างมากขึ้น

พบกับทีมที่ใช้แมชชีนเลิร์นนิงเพื่อช่วยกอบกู้เหล่าผึ้งตัวน้อยของโลก

พบกับทีมที่ใช้แมชชีนเลิร์นนิงเพื่อช่วยกอบกู้เหล่าผึ้งตัวน้อยของโลก

วิธีที่สมาร์ทโฟนอาจช่วยชีวิตคุณได้ในกรณีฉุกเฉิน

วิธีที่สมาร์ทโฟนอาจช่วยชีวิตคุณได้ในกรณีฉุกเฉิน

AI ช่วยแจ้งเตือนล่วงหน้าในสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างไร

AI ช่วยแจ้งเตือนล่วงหน้าในสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างไร

นักวิทยาศาสตร์และซูเปอร์คอมพิวเตอร์จะทำให้น้ำทะเลเป็นน้ำดื่มได้อย่างไร

นักวิทยาศาสตร์และซูเปอร์คอมพิวเตอร์จะทำให้น้ำทะเลเป็นน้ำดื่มได้อย่างไร

วิธีที่ Jason Barnes และคนอื่นๆ บุกเบิกเส้นทางไปสู่โลกที่เปิดกว้างมากขึ้น

วิธีที่ Jason Barnes และคนอื่นๆ บุกเบิกเส้นทางไปสู่โลกที่เปิดกว้างมากขึ้น

กลับไปด้านบน